วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
Monument of King Taksin in Wat Kungtapao.jpg

พระบรมนามาภิไธย สิน
(ดูเพิ่ม...)
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
พระอิสริยยศ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา[1]
ราชวงศ์ ราชวงศ์ธนบุรี
ครองราชย์ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 - 6 เมษายน พ.ศ. 2325
บรมราชาภิเษก 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310
รัชกาล 15 ปี
รัชกาลก่อน สถาปนากรุงธนบุรี
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ก่อนหน้า
รัชกาลถัดไป สิ้นกรุงธนบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ถัดมา
วัดประจำรัชกาล วัดอินทารามวรวิหาร[2]
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277[3][4]
17 เมษายน พ.ศ. 2277
สวรรคต 6 เมษายน พ.ศ. 2325[3][5]
พระราชบิดา หยง แซ่แต้ (鄭鏞)[6]
พระราชมารดา กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)
พระมเหสี กรมหลวงบาทบริจา
กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
พระราชบุตร 30 พระองค์[7]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (จีน: 鄭昭; พินอิน: Zhèng Zhāo; แต้จิ๋ว: Dênchao) มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง ภายหลังเป็นกรมพระเทพามาตย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา[1] เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี พระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์[7]
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การกอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โดยขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักรจนหมดสิ้น และยังทรงทำสงครามตลอดรัชสมัยเพื่อรวบรวมแผ่นดินซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึกก๊กต่าง ๆ ให้เป็นปึกแผ่น เช่นเดียวกับขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติหลังสงคราม ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานามมหาราช

พระปรมาภิไธย

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
  • เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงใช้พระนามว่า "พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"[8]
  • พระราชพงศาวดาร กรุงศรีสัตนาคนหุต เรียกว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เรียกว่า พระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้า
  • จดหมายเหตุกรุงธนบุรีในสมุดไทยดำ ชื่อพระราชสาสน์และศุภักษรโต้ตอบกรุงธนบุรีและกรุงศรีสัตนาคนหุตจุลศักราช 1140 ใช้ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
  • ตอนปลายรัชกาล พระรัตนมุนี ได้ถวายพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระสยามยอดโยคาวจร
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับราชหัตถเลขา เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
  • พระนามที่เรียกกันตามหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
  • ประชาชนทั่วไปขนานนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์

พระราชสมภพและขณะทรงพระเยาว์

ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (鄭鏞)[6] (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไฮ้ฮง หรือ ไห่เฟิง (海豐) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) [6] เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา[9] ครั้นเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ได้มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน (信) เกิดแต่ นาง นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย ซึ่งต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์[10] สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[11]
จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิ ดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [暹羅國; ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [鄭昭; สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." [12]
สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงได้เคยบวชเรียนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ในภาษาไทยและภาษาบาลีครั้นเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว[13] ส่วน อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก[14] เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ไทย จีน ญวน และลาว[13]

อาชีพค้าขาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า[15] ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ[16] การเป็นพ่อค้าดังกล่าวทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง[17] การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน[18]

รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งได้กล่าวไว้ในทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตาก โดยติดต่อผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรง ทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยตาย จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก[19] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนที่จะทรงได้รับการเลื่อนตำแหน่ง[20]
ครั้นเมื่อกองทัพพม่ายกมารุกรานกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพผ่านเมืองตาก พระยาตากเห็นสู้ไม่ไหวจึงได้นำไพร่พลลงมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา[21] ทั้งยังปรากฏในพงศาวดารว่า พระยาตากมีความชอบในการนำทหาร 500 นาย มาช่วยป้องกันพระนคร จึงได้รับพระราชทานของบำเหน็จ[22] ในระหว่างการปิดล้อมนั้นก็ได้ปรากฏฝีมือเป็นนายทัพเข้มแข็ง ปฏิบัติงานตามคำสั่งของราชการ

สร้างกลุ่มชุมนุมและกอบกู้เอกราช

เส้นทางเดินทัพของเจ้าตากครั้งกอบกู้เอกราช
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตก ล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา ทรัพย์สิน วัวควาย ถูกยึดไว้หมด[23] จนกระทั่งในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 (ก่อนกรุงแตกประมาณ 3 เดือน) นั้น กองทัพพม่ายิงถล่มพระนครศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือ วัด วัง ได้รับความเสียหาย เฉพาะบ้านเรือนราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง[24] ทว่ากลางวันของวันที่ 3 มกราคมนั้นกองกำลังของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็น พระยาตาก ได้รวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย[25] หนีออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อนแล้ว จึงได้เห็นแสงเพลิงลุกไหม้ในกรุงศรีอยุธยาที่บ้านสัมบัณฑิตในเวลาเที่ยงคืน ของวันนั้น โดยมีนายทหารคนสำคัญในกองทัพคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยอาสา หลวงราชสเน่หา ขุนอภัยภักดี (ทั้ง 5 นายนี้มักปรากฏอยู่เคียงข้างพระบรมราชานุสาวรีย์หลายแห่ง) พระองค์ตั้งค่ายอยู่ในค่ายวัดพิชัย[26] ได้เริ่มออกเดินทางมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมา แล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายแพ้กลับไป ก่อนจะเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน
เช้าวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2309 กองกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพสังหาร พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้รบกันจนพม่าแตกพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก 4 ม้าออกรับศึก จนสามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง วันนี้เหล่าทหารม้าจึงถือเอาเป็น วันทหารม้า ของไทย[27]
วันที่ 3 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ก็มีขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้าง มาขอสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่น ไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงต้องปะทะไพร่พลชาวบ้านกง ซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่ก็ถูกกองกำลังพระยาตากตีพ่ายไป ยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทอง และเสียงอาหารอีกจำนวนมาก วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2509 หรือ 6 วันนับตั้งแต่หนีออกจากพระนคร เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ่ม แล้วหยุดพัก ณ จุดนี้เป็นเวลา 2 วัน ก่อนที่จะออกเดินทัพต่อมถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก 1 คืน
ต่อมาพระยาตากจึงนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ เมืองปราจีนบุรี แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนจะเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชา ที่ตามกองทัพมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้น ได้เกิดการปะทะกับกองทัพทั้งทัพบกทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำ โจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา "พม่าไล่แทงฟันคงซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนี มาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ"[28] พระเจ้าตากจึงมีรับสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ เรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตร จึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น แนวแรกของพม่าแตกพ่ายไป แต่ยังมีกองหนุนเข้ามาอีก 3 กอง ซึ่งก็ถูกยิงแตกพ่ายไปเช่นกัน "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง"[29] จากแนวทะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนจากการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลนิกายมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง, ตะพานทอง, บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ"[28]
ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระเจ้าตาก แต่เพียงพระเจ้าตากแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" เท่านั้นนายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไป พัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่าแขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ[30] ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น
หลังจากพระองค์ยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล[31] ได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์พายุหมุนจนบิดต้นตาลเป็นเกลียวโดยไม่คลายตัว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ตาลขด[32] บรรดาทหารทั้งหลายต่างก็ยกพระยาวชิรปราการเป็น เจ้าตาก ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัย 23 วัน[33] พระองค์ได้มีพระราชปณิธานว่า "กรุงเทพ มหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มาก แล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงห้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย"[34] การประกาศตั้งตัวขึ้นในครั้งนี้มีศักดิ์เทียบเท่าพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม ก็อาจพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองได้เช่นกันว่า พระยาตากประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว[35] เจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบูร[36] ซึ่งก่อนเข้าตีเมือง ได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด หมายจะให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบูร[37] จนตีได้เมืองจันทบูรเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310[38] หลังจากนั้น ก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบูรและเมืองตราดไม่ถูกยึดครองโดยทหารพม่า
พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นาย จึงได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบูร ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดธนบุรีคืนจากพม่าได้ นายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้น ถูกประหารชีวิต[39][40] ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้ และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครอง ใช้เวลาเพียงเจ็ดเดือนหลังเสียกรุง[41]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น