พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พระราชสมภพ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 — สวรรคต 7 กันยายน พ.ศ. 2352) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ

พระราชประวัติ[แก้]

พระราชสมภพ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 (วันที่ 20 เดือน 4 ตามปีจันทรคติ) ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก) เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ครั้นพระชนมายุครบ 21 พรรษา ก็เสด็จออกผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทลาย 1 พรรษา แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์เสด็จออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรีในตำแหน่ง "หลวงยกกระบัตร" ในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์[1] และได้สมรสกับคุณนาค (ภายหลังได้รับการสถาปนาที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ธิดาในตระกูลเศรษฐีมอญที่มีรกรากอยู่ที่บ้านอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม[2]

รับราชการในสมัยกรุงธนบุรี[แก้]

พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
King Buddha Yodfa Chulaloke.jpgพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
King Buddha Loetla Nabhalai.jpgพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
King Nangklao.jpgพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
Thomson, King Mongkut of Siam (crop).jpgพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Chulalongkorn of Siam.jpgพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Vajiravudh portrait photograph.jpgพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
Prajadhipok's coronation records - 005.jpgพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Ananda Mahidol portrait photograph.jpgพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
Bhumibol Adulyadej 2010-9-29 2 cropped.jpgพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
HRH Vajiralongkorn (Cropped).jpgสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
    
ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่าแล้ว พระยาตาก (สิน) ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ 32 พรรษาและได้เข้าถวายตัวรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตามคำชักชวนของพระมหามนตรี (บุญมา) (ต่อมาคือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "พระราชริน (พระราชวรินทร์)" เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และทรงย้ายนิวาสสถานมาอยู่ที่บริเวณวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองพิมายซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าเมืองพิมายอยู่ พระองค์และพระมหามนตรีได้รับพระราชโองการให้ยกทัพร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากการศึกในครั้งนี้ พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอภัยรณฤทธิ์" จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา เพื่อเป็นการปูนบำเหน็จที่มีความชอบในการสงครามครั้งนี้
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพระฝางสำเร็จแล้ว มีพระราชดำริว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) นั้นมิแกล้วกล้าในการสงคราม ดังนั้น จึงโปรดตั้งพระองค์ขึ้นเป็น "พระยายมราช" เสนาธิบดีกรมพระนครบาล โดยให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรีแขกถึงแก่กรรมแล้ว พระองค์จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาจักรี" ที่สมุหนายก พร้อมทั้งโปรดให้เป็นแม่ทัพเพื่อไปตีกรุงกัมพูชา โดยสามารถตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เมืองบริบูรณ์ และเมืองพุทไธเพชร (เมืองบันทายมาศ) ได้ เมื่อสิ้นสงครามสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้นักองค์รามาธิบดีไปครองเมืองพุทไธเพชรให้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชา และมีพระดำรัสให้เจ้าพระยาจักรีและพระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการที่เมืองพุทไธเพชรจนกว่าเหตุการณ์จะสงบราบคาบก่อน
พระองค์เป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมร และลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิฤกมหิมา ทุกนัครระอาเดช นเรศรราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก" และทรงได้รับพระราชทานให้ทรงเสลี่ยงงากลั้นกลดและมีเครื่องยศเสมอยศเจ้าต่างกรม[3][4]
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2325 ได้เกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีคือ พระยาสรรค์ได้ตั้งตัวเป็นกบฏ ขณะนั้นพระองค์ท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เสด็จกลับจากกัมพูชามาที่กรุงธนบุรี แล้วปราบปรามกบฏ ทรงเห็นว่าเหตุเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระสติวิปลาส จึงให้นำไปสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร[5] สมัยกรุงธนบุรีจึงสิ้นสุดลงในที่สุด

ปราบดาภิเษก[แก้]

หลังจากนั้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 หลังจากที่พระองค์ทรงปราบปรามกบฏเรียบร้อยแล้ว ทางอาณาประชาราษฎร์ได้อัญเชิญเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่มีพระชนมายุได้ 46 พรรษา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา 3 วัน ครั้งเสร็จการฉลองพระนครแล้ว พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หรือเรียกอย่างสังเขปว่า "กรุงเทพมหานคร"

สวรรคต[แก้]

หลังจากการฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี
พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ประโคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2354 พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

พระราชกรณียกิจ[แก้]

ระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (วันจักรี)ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ" นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์[แก้]

พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล จ.ศ. 1144 ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมมหาราชวังสืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสิ่งต่าง ๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ, คลอง ถนนและสะพานต่าง ๆ มากมาย

การป้องกันราชอาณาจักร[แก้]

ภาพด้านหลังธนบัตรไทยชนิดราคา 500 บาท (ชุดที่ 16) รูปพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด 7 ครั้งในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่
สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบอาณาจักรสยาม จึงรวบรวมไพร่พลถึง 144,000 คน กรีธาทัพจะเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ เข้าตีจากกรอบทิศทาง ส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง 70,000 คนเศษเท่านั้น
ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
  • สงครามครั้งที่ 2 พ.ศ. 2329 สงครามท่าดินแดงและสามสบ
ในสงครามครั้งนี้ ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุด โดยแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีพม่าที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ หลังจากรบกันได้ 3 วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่าง ๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรสยามมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ เขมร และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมืองกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเประก์
หลังจากที่พม่าพ่ายแพ้แก่สยาม ก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 60,00 นาย มาช่วยเหลือและขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
  • สงครามครั้งที่ 4 พ.ศ. 2330 สงครามตีเมืองทวาย
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เกณฑ์ไพร่พล 20,000 นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
  • สงครามครั้งที่ 5 พ.ศ. 2336 สงครามตีเมืองพม่า
ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
  • สงครามครั้งที่ 6 พ.ศ. 2340 สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
เนื่องจากสงครามในครั้งก่อน ๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้ จึงทรงรับสั่งไพร่พล 55,000 นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น 7 ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล 20,000 นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น 40,000 นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
  • สงครามครั้งที่ 7 พ.ศ. 2346 สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2
ในครั้งนั้นพระเจ้ากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย

พระพุทธรูปประจำพระองค์[แก้]

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร
พระพุทธรูปประจำรัชกาล
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามวันพระบรมราชสมภพ สร้างราว พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๑ สร้างด้วยทองคำ บาตรลงยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบรมอัยกาธิราช สูง 29.50 เซนติเมตร ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระพุทธรูปประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายใต้พระเศวตฉัตร ๓ ชั้น สร้างราว พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔ หน้าตักกว้าง ๘.๓ ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ ๑๒.๕ ซ.ม. สูงรวม ๔๖.๕ ซ.ม. ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน

พระปรมาภิไธย[แก้]

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 รูปอุณาโลม ผูกตรานี้ขึ้นในวโรกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี
เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร"[6]
เนื่องจากพระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏนี้เป็นพระปรมาภิไธยเดียวกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ดังนั้น พระองค์จึงเป็น "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4"[7]
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ 1 ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงสร้างอุทิศถวาย[8] และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพิ่มพระปรมาภิไธยแก่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก"[7]
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[9]
ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี รัฐบาลได้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ในการนี้รัฐบาลและปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์โดยถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" ต่อท้ายพระปรมาภิไธย ออกพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช"[10][11]

พระราชลัญจกร[แก้]

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 เป็นตรางารูป "ปทุมอุณาโลม" หรือ "มหาอุณาโลม" หมายถึง ตาที่สามของพระศิวะ ซึ่งถือเป็นปฐมฤกษ์ในการตั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีอักขระ "อุ" แบบอักษรขอมอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา
ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์ทักษิณาวรรต หรือ สังข์เวียนขวา มีลักษณะเป็นม้วนกลมคล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง" อยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2328 ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[12][13]

พระราชสันตติวงศ์[แก้]

เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสมรสกับคุณนาค ธิดาของคหบดีใหญ่ในตระกูลบางช้าง (ดู ณ บางช้าง) โดยมีพระราชโอรสสองพระองค์หนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง เมืองราชบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม) ต่อมาเมื่อขึ้นครองราชย์ แม้จะมิได้โปรดให้สถาปนายกย่องขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่คนทั้งปวงก็เข้าใจว่าท่านผู้หญิงนาค เอกภรรยาดั้งเดิมนั้นเองที่อยู่ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี จึงพากันขนานพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา หรือสมเด็จพระพรรษา ตามอย่างการขนานพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามสมเด็จพระพันวษาทรงมีอีกพระนามว่าสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชโอรส-ราชธิดา รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ โดยเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระพันวษา พระอัครมเหสี 10 พระองค์

เรียงตามพระประสูติกาล[แก้]

ประสูตินอกพระมหาเศวตฉัตร
พระนามพระมารดาประสูติสิ้นพระชนม์พระชันษารวม
1. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชาย
(ไม่ปรากฏพระนาม)
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา-
2. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-สิ้นพระชนม์แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา-
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-ปีกุนเอกศก จ.ศ. 1141-
4. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายฉิมสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีวันพุธ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ ปีกุนนพศก
จ.ศ. 1129
วันพุธ เดือน 8 แรม 11 ค่ำ ปีวอกฉศก
จ.ศ.1186
57 พรรษา
5. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าแจ่มกระจ่างฟ้าสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีปีขาลโทศก จ.ศ. 1132วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 1 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 117038 พรรษา
6. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี-
7. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายจุ้ยสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีวันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะโรงเบญจศก จ.ศ. 1134วันพุธ เดือน 8 อุตราสาท ขึ้น 3 ค่ำ ปีฉลูนพศก จ.ศ. 117945 พรรษา
8. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง
(ไม่ปรากฏพระนาม)
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี-
9. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงเอี้ยงสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีวันอังคาร เดือน 7 ขึ้น 7 ค่ำ ปีระกานพศก
จ.ศ. 1139
วันศุกร์ เดือน 9 แรม 2 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จ.ศ. 118547 พรรษา
10. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากล้ายเจ้าจอมมารดาภิมสวนปีจอสัมฤทธิศก จ.ศ.1140สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1-
ประสูติเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว
11. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงนุ่มเจ้าจอมมารดาปุยปีเถาะเบญจศก จ.ศ. 1145สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3-
12. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับทิมเจ้าจอมมารดาจันปีเถาะเบญจศก จ.ศ. 1145วันศุกร์ เดือน 7 แรม 6 ค่ำ ปีมะโรงโทศก
จ.ศ. 1182
38 พรรษา
13. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงเจ้าจอมมารดาดวงปีมะโรงฉศก จ.ศ. 1146สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1-
14. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงผะอบเจ้าจอมมารดาภิมสวนปีมะโรงฉศก จ.ศ. 1146สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1-
15. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงพลับเจ้าจอมมารดาคุ้มปีมะเส็งสัปตศก จ.ศ. 1147ปีขาลสัปตศก จ.ศ. 122882 พรรษา
16. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายอภัยทัตเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว
ธิดาพระยาจักรี เมืองนครศรีธรรมราช
วันอังคาร เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีมะเส็งสัปศก
จ.ศ. 1147
วันอังคาร เดือน 3 แรม 11 ค่ำ ปีระกานพศก จ.ศ. 119952 พรรษา
17. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายอรุโณทัยเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่
ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร) กับท่านผู้หญิงชุ่ม (ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เมืองนคร)
ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1169วันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรงจัตวาศก จ.ศ. 119448 พรรษา
18. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับเจ้าจอมมารดาน้อย-วันอังคาร เดือน 5 แรม10 ค่ำ ปีระกาสัปตศก จ.ศ. 118739 พรรษา
19. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงธิดาเจ้าจอมมารดาเอมปีมะแมนพศก จ.ศ. 1149ปีจอสัมฤทธิศก จ.ศ. 120052 พรรษา
20. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายคันธรสเจ้าจอมมารดาพุ่ม
ธิดาเจ้าพระยาวิเศษสุนทร (นาค นกเล็ก)
วันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะแมนพศก จ.ศ. 1149วันอังคาร เดือนยี่ ขึ้น 13 ค่ำ ปีชวดอัฐศก
จ.ศ. 1178
30 พรรษา
21. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงจงกลณีเจ้าจอมมารดาตานี
ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค)
ปีวอกสัมฤทธิศก จ.ศ. 1150สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2-
22. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายสุริยาเจ้าจอมมารดาเพ็งใหญ่วันอังคาร เดือน 12 แรม 1 ค่ำปีระกาเอกศก
จ.ศ. 1151
วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ ปีขาลฉศก
จ.ศ.1216
66 พรรษา
23. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงเกษรเจ้าจอมมารดาประทุมาปีระกาเอกศก จ.ศ. 1151สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2-
24. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงมณฑาเจ้าจอมมารดานิ่มปีจอโทศก จ.ศ. 1152วันพฤหัสบดีเดือน 8 อุตราสาฒ ขึ้น 11 ค่ำ
ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223
72 พรรษา
25. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงมณีเจ้าจอมมารดาอู่
ธิดาพระยาเพชรบุรี (บุญรอด)
ปีจอโทศก จ.ศ. 1152สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4-
26. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงสุดาเจ้าจอมมารดาน้อยปีจอโทศก จ.ศ. 1152สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4-
27. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงจักจั่น (บางแห่งว่า พระองค์เจ้าหญิงสุมาลี)เจ้าจอมมารดาอิ่ม ภายหลังได้เป็น ท้าววรจันทร์ฯ มีหน้าที่บังคับบัญชาท้าวนางทั่วทั้งพระราชวัง

ธิดาเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)
ปีจอโทศก จ.ศ. 1152สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2-
28. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายวาสุกรีเจ้าจอมมารดาจุ้ย
ธิดาพระราชาเศรษฐี
วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอโทศก
จ.ศ. 1152
วันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น 8 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก
จ.ศ. 1214
64 พรรษา
29. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายฉัตรเจ้าจอมมารดาตานี (เจ้าคุณวัง) ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) เกิดแต่ท่านผู้หญิงเดิมที่ถูกโจรฆ่าตายไปเมื่อครั้งกลับไปขนทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้กลับมาจากกรุงเก่าวันอังคาร เดือน 3 ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอโทศก
จ.ศ. 1152
วันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 6 ค่ำ ปีขาลโทศก
จ.ศ. 1192
40 พรรษา
30. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายสุริยวงศ์เจ้าจอมมารดานวลวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุนตรีศก
จ.ศ. 1153
วันเสาร์ เดือนอ้าย แรม 2 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จ.ศ. 121563 พรรษา
31. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงอุบลเจ้าจอมมารดาทอง
ธิดาในท้าวเทพกระษัตรี วีรสตรีแห่งเมืองถลาง
วันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุนตรีศก
จ.ศ. 1153
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3-
32. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงฉิมพลีเจ้าจอมมารดางิ้วปีกุน ตรีศก จ.ศ. 1153วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเส็งนพศก จ.ศ. 121967 พรรษา
33. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายไกรสรเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ววันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีกุนตรีศก
จ.ศ. 1153
วันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศก จ.ศ.121057 พรรษา
34. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายดารากรเจ้าจอมมารดาเพ็งใหญ่วันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ ปีชวดจัตวาศก
จ.ศ. 1154
ปีวอกสัมฤทธิศก จ.ศ. 121057 พรรษา
35. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายดวงจักรเจ้าจอมมารดาปานวันจันทร์ เดือน 8 แรม 6 ค่ำ ปีชวดจัตวาศก
จ.ศ. 1154
อาทิตย์ เดือน 10 แรม 8 ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก จ.ศ. 120855 พรรษา
36. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงศศิธรเจ้าจอมมารดาฉิมแมว
ซึ่งเป็นธิดาท้าววรจันทร์ (แจ่ม)
ปีขาลฉศก จ.ศ. 1156สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2-
37. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงเรไรเจ้าจอมมารดาป้อม (ป้อมสีดา)
ธิดาพระยารัตนจักร (หงส์ทอง)
ปีเถาะสัปตศก จ.ศ. 1157สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1-
38. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงกระษัตรีเจ้าจอมมารดานวมปีมะโรงอัฐศก จ.ศ. 1158ปีชวดอัฐศก จ.ศ. 117820 พรรษา
39. พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระนามเดิม พระองค์เจ้าจันทบุรี)เจ้าจอมมารดาทองสุก
พระธิดาเจ้าอินทวงศ์ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์ซึ่งเป็นเจ้าประเทศราชขณะนั้น
ปีมะเมียสัมฤทธิศก จ.ศ. 1160วันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอสัมฤทธิศก
จ.ศ. 1200
41 พรรษา
40. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายสุทัศน์เจ้าจอมมารดากลิ่น
ธิดาพระยาพัทลุง (ขุน)
วันพุธ เดือน 8 บุรพาสาฒ ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. 1160วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม 10 ค่ำ ปีมะเมียนพศก จ.ศ. 120949 พรรษา
41. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสุภาธรเจ้าจอมมารดาเพ็งเล็ก
พระธิดาเจ้านันทเสน พระเจ้าเวียงจันทน์
ปีมะเมียสัมฤทธิศก จ.ศ. 1160สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 241 พรรษา
42. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสุดเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่
ธิดาพระยาพัทลุง (ขุน)
ปีมะแมเอกศก จ.ศ. 1161สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 349 พรรษา

ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

  • พ.ศ. 2279
    • 20 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชสมภพที่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิม ทองด้วง
  • พ.ศ. 2326
    • กำหนดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    • ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอุณรุท
    • เริ่มงานสร้างพระนคร ขุดคูเมืองทางฝั่งตะวันออก สร้างกำแพงและป้อมปราการรอบพระนคร
    • สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • พ.ศ. 2327
    • โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากหอพระแก้วในพระราชวังเดิม แห่ข้ามมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถในพระราชวังใหม่ พระราชทานนามพระอารามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    • โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้า
    • สงครามเก้าทัพ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าทรงกรีธาทัพเข้ามาตีเมืองไทยตั้งแต่เหนือจดใต้ รวม 9 ทัพ กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินไปทุกทัพ
  • พ.ศ. 2328
    • งานสร้างพระนครและปราสาทราชมณเฑียรสำเร็จเสร็จสิ้น
    • พระราชทานนามของราชธานีใหม่
  • พ.ศ. 2333
    • องเชียงสือกู้บ้านเมืองสำเร็จและจัดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวาย
  • พ.ศ. 2339
    • งานสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
  • พ.ศ. 2352
    • ได้ริเริ่มให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย โปรดเกล้าฯให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์คือสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    • เสด็จสวรรคต

พระราชตระกูล[แก้]

พระราชตระกูลในสามรุ่นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระชนก:
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
พระยาราชนิกูล (ทองคำ)
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง)
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ลูกจันทร์
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระชนนี:
พระอัครชายา (หยก)
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
หลง
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
กิม
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. กระโดดขึ้น เทศนาพระราชประวัติและพงศาวดารกรุงเทพฯ, หน้า 5-7
  2. กระโดดขึ้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, หน้า 12
  3. กระโดดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเธียรมหาราชเจ้า, ปฐมวงศ์ (พระบรมราชมหาจักรีกษัตริย์สยาม), โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, พ.ศ. 2470
  4. กระโดดขึ้น พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, หน้า 131-132
  5. กระโดดขึ้น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548, หน้า 230
  6. กระโดดขึ้น 6 เมษายน - วันจักรี - พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, เข้าถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
  7. ↑ กระโดดขึ้นไป:7.0 7.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สร้อยพระนาม, สกุลไทย, ฉบับที่ 2622, ปีที่ 51, ประจำวันอังคารที่ 18 มกราคม 2548
  8. กระโดดขึ้น โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 15.
  9. กระโดดขึ้น ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธย, เล่ม ๓๓, ตอน ๐ก, ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙, หน้า ๒๑๒
  10. กระโดดขึ้น ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๔/๒๕๒๕ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕, เล่ม ๙๙, ตอน ๔๘ ง ฉบับพิเศษ, ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๑
  11. กระโดดขึ้น พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตน์โกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี และพระราชพิธีสมโภชหลักเมือง, สำนักงานส่งเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, เข้าถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554
  12. กระโดดขึ้น พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑, หอมรดกไทย, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554
  13. กระโดดขึ้น พระราชลัญจกรประจำรัชกาล, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, เข้าถึงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554